การเฉลี่ยภาษีซื้อ
เมื่อใดที่ต้อง "เฉลี่ยภาษีซื้อ"
เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มา หรือได้รับจากประกอบกิจการของตนไปใช้ในกิจการทั้ง VAT และ NON VAT หากไม่สามารถแยกได้ว่าใช้ในกิจการใดและไม่ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อจะถือว่าเป็น ภาษีซื้อต้องห้ามทั้งจำนวน โดยการเฉลี่ยภาษีซื้อนิยม 2 วิธีคือ เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้และเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้
ภาษีซื้อคืออะไร?
"ภาษีซื้อ" หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรา 82/4 วรรคสี่
ทำไมต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ?
การที่ผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (NON VAT) ผู้ประกอบการได้นำสินค้าหรือบริการมาใช้ในกิจการทั้ง 2 ประเภท โดยไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่า สินค้าหรือบริการที่นำมาใช้นั้นเป็นประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นมาเฉลี่ยตามส่วนของกิจการที่ตนเองนำสิทธิภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ "หากไม่เฉลี่ยภาษีซื้อจะถือว่า ภาษีซื้อทั้งจำนวนนั้นเป็น ภาษีต้องห้าม”
แล้วธุรกิจใดบ้างที่ต้อง "เฉลี่ยภาษีซื้อ"
การประกอบกิจการประเภทที่อาจจำเป็นต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ ยกตัวอย่างเช่น
• กิจการรับเหมาก่อสร้าง (VAT) + กิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (NAN VAT)
• กิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (NAN VAT) +กิจการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (VAT)
• กิจการขายพืชผลทางการเกษตร (NAN VAT) + กิจการส่งออกพืชผลทางการเกษตร (VAT)
แล้วต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออย่างไร?
หลักเกณฑ์ในการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) มีดังต่อไปนี้
1. กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อทั่วไป หรือ เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ โดยการประมาณการสัดส่วนของรายได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งปี แล้วทำการปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วน เช่น
• ภาษีซื้อค่าซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง เช่น เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่ง สำนักงาน หรือวัสดุสิ้นเปลือง
• ภาษีซื้อค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าโฆษณา หรือค่าซ่อมแซม
2. กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร โดยการประมาณการสัดส่วนการใช้พื้นที่อาคารแล้วทำการปันส่วนภาษีซื้อตามสัดส่วน เช่น ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการ VAT และ NON VAT เป็นต้น
3. กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ในกรณีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่อาจใช้หลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อไม่ว่าจะเป็นการเฉลี่ยภาษีซื้อโดยทั่วไป หรือกรณีการเฉลี่ยภาษีซื้ออันเกิดจากการก่อสร้างอาคาร อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์อย่างอื่นได้ (ข้อ 5 (7) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29))
"การเฉลี่ยภาษีซื้อ"
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการทั้ง VAT และ NON VAT นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในกิจการโดยไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่านำไปใช้ในกิจการประเภทใด ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขาย